ผ้าไตรจีวร / ผ้าไตร สำหรับเตรียมตัวจัดงานบวชน้ัน หลายท่านจะมีความสับสนการเลือกและไม่เข้าใจว่า ทำไมบางครั้งที่ร้านขายผ้าไตรจะถามเราว่า เอาแบบ 5 ขันธ์หรือ 9 ขันธ์ บทความนี้จะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกผ้าไตรสำหรับผู้ที่กำลังหาซื้อผ้าไตรสำหรับเตรียมในงานบวชให้กับลูกหลาน หรือ จัดหาเพื่อถวายผ้าไตรแด่พระภิกษุ

ผ้าไตรจีวร คืออะไร

ผ้าไตร คือ ผ้าที่พระสงฆ์ใช้นุ่งครอง หรือผ้าเหลืองที่เราเห็นพระสงฆ์นุ่งห่มนั่นเอง บางครั้งชาวบ้านก็จะเรียกผ้าที่พระครองว่า ผ้าไตรจีวรหรือผ้าจีวร แต่ทำไมถึงเรียกว่าผ้าไตร

คำว่า ไตร หมายถึง ไตรที่แปลว่า สาม ดังนั้นในความหมายของผ้าไตรในการแปลแบบตรงไปตรงมา ก็จะหมายถึง ผ้าสามผืนนั่นเอง ดังนั้น เมื่อเรากล่าวถึงผ้าไตร ก็จะเข้าใจตรงกันในความหมายเดียวกันคือ ผ้าสามผืนที่พระสงฆ์ใช้สำหรับนุ่งครอง

ซึ่งในผ้าไตร 3 ผืน ก็จะประกอบไปด้วย

  1. ผ้าจีวร หรือ ผ้าห่ม ซึ่งพระสงฆ์จะเรียกว่า อุตราสงค์
  2. ผ้าสบง หรือ ผ้านุ่ง ซึ่งพระสงฆ์เรียกว่า อันตรวาสก
  3. สังฆาฏิ หรือ ผ้าซ้อน/ผ้าพาดบ่า

ผ้าไตร ส่วนใหญ่มักนิยมเรียกย่อๆ ว่า ไตร ไตรเต็ม หรือ ไตรแบ่ง

ไตรเต็ม คือ ผ้าไตรที่จัดรวมกันไว้เป็นชุดครบทั้ง 3 ผืน เหมือนผ้าไตรที่นิยมวายกันโดยทั่วไป บางโอกาสอาจจะเพิ่ม กายพันธน์ ผ้าอังสะ  ผ้ารัดอก และผ้ากราบ

  • กายพันธน์ คือ ผ้าประคดรัดเอว (รัดประคด)
  • ผ้าอังสะ คือ ผ้าที่มีลักษณะคล้ายเสื้อใช้คล้องไหล่เฉียงบ่าปิดไหล่ซ้าย พระจะใช้เมื่อเวลาอยู่ที่วัดตามลำพัง (ไม่ต้องห่มจีวรคลุมร่างทั้งผืน)
  • ผ้ารัดอก ใช้สำหรับรัดจีวรเมื่อเวลาห่มดอง
  • ผ้ากราบ ใช้สำหรับรองเมื่อเวลากราบและใช้ปูรับของเมื่อเวลาผู้หญิงประเคนของถวาย

ผ้าไตรจีวร 5 ขันธ์ และ ผ้าไตรจีวร 9 ขันธ์

ขัณฑ์ คือ ลักษณะของการเย็บผ้า จำนวนชิ้นผ้าที่ตัดขาดจากกัน นำมาเย็บต่อเข้าเป็นผืนเดียวกันเช่น ผ้าไตร 9 ขัณฑ์ คือ ผ้า 9 ชิ้น ที่นำมาเย็บต่อเป็นผืนเดียวกันใช้เป็นสบงหรือจีวร (จำนวนขัณฑ์มาก จำนวนชิ้นผ้าก็เยอะตาม)

  • สำหรับพระวัดทั่วไป (มหานิกาย) นิยมถวาย ผ้าไตร 5 ขัณฑ์ 

 

  • สำหรับพระวัดป่ากรรมฐาน (ธรรมยุติ) นิยมถวาย ผ้าไตร 9 ขัณฑ์

ชุดเครื่องบวชพระภิกษุสงฆ์ ประกอบไปด้วย

  • ไตรครอง ประกอบด้วยอัฐบขาล 7 อย่าง
  • ไตรอาศัย (สบง, จีวร, อังสะ)
  • ไตรคู่สวด – อุปัชฌาย์
  • ชุดนาค (เสื้อครุยนาค, สบงขาว, ผ้าสไบ)
  • บาตรครบชุด
  • ตาลปัตร
  • ย่าม
  • อาสนะ
  • ต้นเทียนถวายพระอุปัชฌาย์ – พระคู่สวด 3 ใบ
  • กรวยขมา ถวายพระอุปัชฌาย์ – พระคู่สวด 3 ใบ
  • ธูป เทียน แพ พาน
  • เสื่อ
  • ที่นอนพระ
  • หมอน
  • มุ้ง
  • ผ้าเช็ดตัว – ผ้าเช็ดหน้า
  • ผ้าห่ม
  • ปิ่นโต
  • กระโถน
  • จาน ช้อน ส้อม แก้วน้ำ
  • รองเท้าแตะ

พิธีการบวช

1. ตอนเย็นก่อนบวชจะมีพิธีโกนหัวนาค ณ โรงพิธีประชุมวงฆ์ นาคทั้งหลายจะรับศีล อาราธนาพระปริตรพระสงฆ์พรมน้ำมนต์และสระผมนาค ผู้ที่โกนหัวอาจเป็นพระสงฆ์หรือพ่อแม่ จากนั้นญาติผู้ใหญ่จะโกนด้วยเล็กน้อย

2. หลังจากนั้นอาบน้ำ เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวนุ่งขาว ห่มขาว เรียกว่า “เจ้านาค”

3. กลางคืนจัดให้มีพิธีสงฆ์เรียกว่า “การสวดผ้า” เจ้านาคต้องมีไตรจีวร และจะมีการทำขวัญนาคด้วยในคืนนี้

4. จะมีการแห่นาคในวันบวชวันรุ่งขึ้น แห่รอบโบสถ์ 3 รอบ เป็นการบูชาพระพุทธศาสนา ขณะที่แห่จะมีการว่าเพลง “คำตัก”

5. เมื่อครบ 3 รอบ นาคจะจุดธูปเทียน บูชาพัทธสีมา มีการกรวดน้ำ

6. หลังจากนั้นญาติจะช่วยกันอุ้มนาคเข้าอุโบสถ ห้ามเหยียบธรณีประตู พ่อแม่นาคส่งไตรครองให้นาค เพื่อถวายพระอุปัชฌาย์ ถวายพระกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวด) และพระอนุสาวนาจารย์ ท่านละ 3 กรวย จากนั้นกล่าวคำขอบรรพชา รับศีล 10 พระอุปัชฌาย์คล้องบาตรสะพาย พระคู่สวดจะประกาศว่าผู้ชื่อนั้นๆ ได้มาขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ แล้วตั้งคำถามเป็นข้อๆ เรียกว่า “ขานนาค”

7. เมื่อขานนาคเสร็จ นาคขออุปสมบทต่อคณะสงฆ์ คณะสงฆ์กล่าว อนุศาสน์ (ข้อควรปฏิบัติ และไม่ควรปฏิบัติขณะที่บวช)

8. เมื่อจบอนุศาสน์ พระบวชใหม่ถวายของบูชาพระคุณแก่คณะสงฆ์ จากนั้นรับของถวายเครืองไทยธรรมจากญาติ ขณะเดียวกันจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่บิดา มารดา ญาติเป็นอันเสร็จพิธี

Pin It on Pinterest

Share This

Share This

Share this post with your friends!