ผ้าป่า ผ้ากฐิน
ปีหนึ่งในวัดแต่ละวัดก็มีผ้าป่ามีกฐิน กฐินสมัยก่อน สมัยครั้งพุทธกาล สมัยครั้งพระพุทธเจ้าท่านเน้นหนักเรื่องผ้า ผ้ากฐิน ผ้านั้นใหญ่ขนาดไหน คือผ้าทำเป็นผ้าสบง ทำเป็นผ้านุ่ง คือผ้าสบง หรือผ้าจีวร หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง
สบงนั้นใหญ่ขนาดไหน สบงผืนเล็กที่สุด คือผ้านุ่งนี่ใช้ทุกวันก็ใช้ประมาณ ๕ เมตรนะถ้าองค์ใหญ่ แต่ถ้าองค์สูงละก็รู้สึกว่าจะหวุดหวิดไปนะ ถ้าได้ ๖ เมตรจะพอดีสำหรับพระองค์ใหญ่ สำหรับพระฝรั่งหรือสำหรับพระองค์รูปร่างใหญ่ สำหรับผ้าสบงใช้ ๖ เมตร
แต่ผ้าจีวร คือผ้าห่ม อย่างหลวงพ่อกำลังห่มผ้าจีวรอยู่นี้ ถ้าหากว่าเป็นพระธรรมดาก็ประมาณ ๙ เมตรครึ่งหรือ ๑๐ เมตร ถ้า ๑๐ เมตรนี้พอดี ตัดสบายๆ แต่ถ้าหากเป็นพระองค์ใหญ่ก็ประมาณ ๑๑ เมตร ถ้า ๑๑ เมตรนี้พอดี ถ้าใหญ่จริงๆ ก็เกือบ ๑๒ เมตร ต่อ ๑ องค์
ถ้าหากว่าเป็นผ้าสังฆาฏิเป็นผ้า ๒ ชั้น คือผ้าห่มหนาว เหมือนกับผ้าจีวรแต่ทำให้เป็น ๒ ชั้น ใช้ผ้าประมาณสัก ๑๙ – ๒๐ เมตร ประมาณนี้พอดีสำหรับผ้าผืนหนึ่งนี้ตัดสบายๆ สำหรับพระผู้เล็ก ผู้น้อย พระน้อยตัวเตี้ยก็ต่ำลงมา พระใหญ่นี่รุ่นใหญ่ ๒๐ เมตร
นี้ก็คือผ้ากฐินสมัยครั้งพุทธกาลหรือในครั้งนี้ก็เหมือนกัน โดยมากจะเป็นผ้าขาวหรือเป็นผ้าสีก็ได้แต่ยังไม่ได้ตัดนะ ยังไม่ได้ตัดเป็นไตร เอามาแล้วก็เอามาตัดทีหลัง พอตัดแล้วก็มาเย็บในวันนั้น ย้อมในวันนั้น แล้วก็กรานกฐินในวันนั้น คือ ให้เสร็จในวันเดียว อันนี้ก็คือผ้ากฐิน
งานกฐินของหลวงพ่อถ้าจะว่าใหญ่มันก็ใหญ่ ถ้าจะว่าเล็กมันก็เล็ก เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนั้นเพราะว่าหลวงพ่อก็ไม่ได้มีใบฎีกงฎีกาเชิญอะไร เพียงแต่ประกาศบอกกล่าวเล่าสิบกัน ศรัทธาญาติโยมผู้ที่อยากจะมาร่วมทำบุญกับกฐินของหลวงพ่อปีหนึ่งก็มีครั้งเดียวเท่านั้นละ ผู้ใดอยากจะมาก็มา หลวงพ่อก็ประกาศอย่างนั้นทุกปี แต่ทุกปีที่ผ่านมา ถ้าจะว่าไปแล้วก็มืดฟ้ามัวดินเหมือนกัน คนที่มาในงานนะ มากพอสมควร หลวงพ่อก็ว่ามาก หลวงพ่ออาจจะไปยังไม่เคยเห็นวัดอื่น แต่วัดหลวงตาเปรียบเทียบกันไม่ได้ วัดหลวงตาก็ต้องมากอยู่แล้ว
ทีนี้การที่คนมามากนี้เราจะรับมือยังไง อันนี้ละเป็นเรื่องใหญ่สำหรับวัด จุดประสงค์คือเล็ก แต่การต้อนรับคนมันเป็นเรื่องใหญ่ ผู้มาเกี่ยวข้องจะเลี้ยงยังไง กลางค่ำ กลางคืนมีไฟไหม มีห้องน้ำไหม มีน้ำ มีไฟไหม มีอาหารการบริโภคไหม หลับนอนยังไง ที่พักพาอาศัยทำยังไง นี้ละเป็นเรื่องใหญ่ทีนี้ คือเรื่องต้อนรับขับสู้นี้เป็นเรื่องใหญ่ การเตรียมพร้อมของงานก็ต้องประสานกันหลายหมู่หลายคณะ หลายพรรคหลายพวก ทั้งพี่น้องประชาชนญาติโยมด้วย ทั้งฝ่ายพระด้วย ทั้งผู้อยู่ใกล้ด้วยอยู่ไกลด้วย
อย่างโรงทานนี้ เราก็ต้องได้จดๆ เอาไว้เหมือนกัน เอ้า เลี้ยงแขก เลี้ยงคน เลี้ยงพี่ เลี้ยงน้อง เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานที่มาร่วมงาน ก็คือการทำบุญร่วมกันเลี้ยงอาหารการบริโภค มาทำบุญกับวัดวาศาสนาอย่าให้อด อย่าให้อยาก ให้มีอยู่ มีกิน อันนี้ก็คือเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกๆคนนะ ไม่ว่าระดับไหน การเป็นอยู่มันต้องช่วยๆกันนะ ให้ดูแลกัน พร้อมเพรียงสามัคคีกัน ผู้น้อย ผู้ใหญ่ ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นลูกศิษย์ลูกหา เป็นลูกเป็นเต้า ผู้ที่มาเกี่ยวข้องก็ต้องช่วยๆดูแลกันทุกระดับ
หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา “ความเป็นมาผ้ากฐิน”
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๔
ที่มาจาก